วันพุธที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
ควายธนู เป็นเครื่องรางตามความเชื่อทางไสยศาสตร์ สะท้อนให้เห็นระบบความเชื่อทางไสยศาสตร์ของสังคมเกษตรกรรม อันมีความผูกพันกับวัฒนธรรมข้าว ซึ่งเลี้ยงวัวควายไว้ใช้งานในด้านการเกษตร วิชาเหล่านี้เป็นการทำหุ่นพยนต์รูปแบบหนึ่ง หุ่นพยนต์สามารถทำได้ทั้งรูปคนและสัตว์ ที่นิยมมีทั้งวัวธนูและควายธนู สามารถสร้างได้หลายวิธี เช่น สานจากไม้ไผ่ ปั้นด้วยดินผสมมวลสาร ปั้นจากขี้ผึ้ง ไปจนถึงหล่อขึ้นด้วยโลหะอาถรรพ์ เช่น ตะปูโลงศพเจ็ดป่าช้า ,เหล็กขนันผีพราย ,เหล็กยอดเจดีย์ เป็นต้น เอามาหลอมรวมกันหล่อเป็นรูปควาย บางสำนักใช้โครงเป็นไม้ไผ่แล้วพอกด้วยครั่งที่ได้จากต้นพุททรา เมื่อทำสำเร็จแล้วต้องปลุกเสกตามพิธีกรรม แล้วเลี้ยงไว้ให้ดี ต้องหาหญ้าและน้ำเลี้ยงเสมอ เชื่อว่าสามารถใช้ให้เฝ้าบ้านหรือไร่นา ใช้งานได้ตามความประสงค์ ทั้งป้องกันภูตผีและโจรผู้ร้าย และสามารถสั่งให้ไปสังหารคู่อริได้อีกด้วย มีคาถาใช้เสกเมื่อทำควายธนูว่า
โอมปู่เจ้าสมิงไพร ปู่เจ้ากำแหงให้กูมาทำควาย เชิญพระอีศวรมาเป็นตาซ้าย เชิญพระอาทิตย์มาเป็นตาขวา เชิญพระนารายณ์มาเป็นเขา เชิญพระอินทร์เจ้าเข้ามาเป็นหาง เชิญพระพุทธคีเนตร์ พระพุทธคีนายมาเป็นสีข้างทั้งสอง เชิญพระจัตตุโลกบาลทั้งสี่มาเป็นสี่เท้า เชิญฝูงผีทั้งหลายเข้ามาเป็นไส้พุง นะมะสะตีติ
ความเชื่อเรื่องควายธนูมีอยู่ทุกภาคของประเทศไทย บางท้องถิ่นเชื่อว่าผู้เลี้ยงต้องดูแลอย่างดีหมั่นให้อาหารและปล่อยออกไปท่องเที่ยว จะประมาทหลงลืมไม่ได้ ไม่เช่นนั้นควายธนูจะหวนมาทำร้ายเจ้าของเสียเอง แต่บางแห่งก็ถือเป็นเสมือนเครื่องรางธรรมดาสำหรับใช้พกพาติดตัว
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น